ปรับขนาดตัวอักษร

ปรับขนาดตัวอักษร

AA

ปรับสี

แสดงแบบตาราง

ปิด
เปิด
ปรับขนาดตัวอักษร
โลโก้ของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย

มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

FOUNDATION FOR THE BLIND IN THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF H.M. THE QUEEN

ผลิตภัณฑ์และบริการติดต่อมูลนิธิฯ
การเรียนการสอนติดต่อ

ประวัติความเป็นมา

ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด เดิมชื่อว่า ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรี เกิดขึ้นจากการริเริ่มของคุณหญิงสมานใจ ดำรงแพทยาคุณ (ดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระราชินูปถัมภ์ พ.ศ.2507 – 2510) โดยท่านมีความห่วงใยว่านักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพแล้ว จะไม่สามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงในชีวิตได้เนื่องจากขาดทักษะและความชำนาญในวิชาชีพ ในปีพ.ศ.2502 ท่านจึงได้เริ่มดำเนินงานโดยได้รับความร่วมมือ จาก คุณปกรณ์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น ได้อนุมัติให้ใช้ที่ดินราชพัสดุย่านปากเกร็ดเป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด การก่อสร้างเริ่มในปีพ.ศ.2505 โดยสร้างอาคารอำนวยการ หอพัก โรงฝึกงาน โรงครัว และบ้านพักพนักงาน ในการนี้ทางสำนักงบประมาณได้สนับสนุนค่าก่อสร้างโรงฝึกงาน ส่วนทางมูลนิธิฯได้จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ในการฝึกอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิอเมริกันช่วยคนตาบอดโพ้นทะเล

รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา
รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา
รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา

ต้นปีพ.ศ.2506 ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรีเริ่มรับนักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นชายรุ่นแรก 15 คน อายุระหว่าง 15-30 ปี เข้ารับการอบรมในหลักสูตรฝึกวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย 6 วิชา ได้แก่ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างโลหะ ช่างเย็บหนัง ช่างหวาย และเกษตรกรรม โดยได้ดัดแปลงมาจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ใช้เวลาในการฝึก 2 ปี ในเบื้องต้นได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการโดยได้ส่งบุคลากร จำนวน 5 ท่าน มาทำหน้าที่เป็นครูใหญ่และฝ่ายปกครอง 1 ท่าน ที่เหลือเป็นครูสอนในวิชาช่างต่าง ๆ โดยการเรียนการสอนจะเน้นหนักไปที่การฝึกอาชีพช่างไม้พร้อมกันนี้ทางศูนย์ฯ ได้เปิดชั้นเรียนสอนวิชาสามัญเบื้องต้นเพิ่มเติมให้อีกด้วย

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2507 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บรมราชินูปถัมภ์ของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรี

เมื่อดำเนินการเรียนการสอนมาได้ระยะหนึ่ง ทางศูนย์ฯเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นที่จบหลักสูตรวิชาช่าง แต่ไม่สามารถหางานทำได้ จึงได้ตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาภายในศูนย์เพื่อผลิตสินค้าจำหน่าย โดยได้รับนักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นที่จบหลักสูตรแล้วเข้าทำงาน

ด้วยวิสัยทัศน์ในการขยายงานช่วยเหลือนักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและอย่างยั่งยืน มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยจึงได้ขอมูลนิธิคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย ให้เข้ามาช่วยเหลือในการบริหารและจัดการกิจการของศูนย์ฯแห่งนี้ ดังนั้นในปีพ.ศ.2520 ทางคณะนักบวชซาเลเซียนได้ส่งบาทหลวงกูสต๊าฟ โรเซนต์ มาเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรี ในปีพ.ศ.2524 บาทหลวงชาร์ล เวลาร์โดมารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของศูนย์ฯ คนต่อมา และท่านได้ทำคุณอเนกอนันต์ให้กับนักเรียนพิการทางการเห็นของศูนย์ฯ ในรูปแบบของโครงการต่างๆมากมาย พร้อมกับปรับเปลี่ยนหลักสูตรวิชาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และสถานการณ์ปัจจุบัน

หลังจากที่คณะนักบวชซาเลเซียนได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ได้มีการเปลี่ยนชื่อเดิมจากศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดเป็นศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาของศูนย์ฯที่ว่า "ความสามารถอยู่ที่เขา เราช่วยกันพัฒนา" เพราะคณะผู้บริหารและบุคลากรของศูนย์เชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของ ผู้พิการทางการเห็นที่ว่า เพียงหากพวกเขามีโอกาสพัฒนาอย่างเหมาะสมภายใต้การนำที่ดี พวกเขาก็จะสามารถดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติและอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี อย่างมีคุณภาพ และอย่างยั่งยืน

ปรัชญาและพันธกิจ

  • ปรัชญา : ความสามารถอยู่ที่เขา เราช่วยกันพัฒนา
  • พันธกิจ :สร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางการเห็นชาย เพื่อจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่าง “มีศักดิ์ศรี อย่างมีคุณภาพ และอย่างยั่งยืน”

ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดเปิดรับนักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นชายอายุตั้งแต่ 15-45 ปี มีทั้งที่พิการทางการเห็นตั้งแต่กำเนิดและในภายหลัง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หลักสูตรที่ทางศูนย์ฯ ใช้อยู่เป็นหลักสูตรการฝึกอบรม 2 ปี โดยในปีที่ 1 นักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นจะเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในกรอบองค์ ความรู้ 7 วิชา รวม 500 ชั่วโมง ได้แก่ การฝึกทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหวด้วยไม้เท้า ภาษาเบรลล์ คอมพิวเตอร์ กายวิภาค การนวดแผนไทย ทอเสื่อ และเกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังมีการอบรมจริยธรรมและคุณธรรมประจำวันเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพและการครองตนในชีวิตประจำวัน การเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพและต่อยอดไปถึงการแข่งขันในระดับประเทศ เช่น การแข่งขันโกลบอล และยูโด เป็นต้น มีการดูแลและรักษาความบาดเจ็บทางด้านจิตใจโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่เพิ่งมาสูญเสียการมองเห็นโดยนักจิตวิทยาอนึ่ง วิชาที่ทางศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ วิชานวดแผนไทย ซึ่งดำเนินการสอนโดยครูพิการทางสายตาที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นครูผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยสาขาการนวดแผนไทย

ในปีที่ 2 นักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นจะฝึกปฏิบัติงานจริงในการนวดแผนไทยเป็นเวลา 1,000 ชั่วโมงกับบุคคลภายนอกที่มาใช้บริการ ณ ศาลาสุขสัมผัส การฝึกปฏิบัติงานจริงจะทำให้พวกเขาได้รับทั้งประสบการณ์การนวดแผนไทย การเข้าสังคม ทักษะการประกอบอาชีพ และยังเป็นโอกาสเก็บสะสมทุนสำรองเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต ดังนั้นเมื่อจบหลักสูตรแล้ว พวกเขาสามารถนำทุนสะสมไปลงทุนเปิดสาขา สถานประกอบการนวดแผนไทยภายใต้ชื่อ "สุขสัมผัส" พร้อมตราสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์จดทะเบียนเครื่องหมายบริการของทางศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด หรือพวกเขาอาจไปเป็นพนักงานตามร้านนวดแผนไทย ซึ่งในแต่ละปีมีเจ้าของสถานประกอบการเป็นจำนวนมากยื่นความประสงค์ที่ ต้องการรับนักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นไปเป็นพนักงานนวดของทางร้าน

นอกนั้น ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นสามารถเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จนจบมัธยมปลายชั้นปีที่ 6 และเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้อีกด้วย

รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา
รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา
รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา

อนาคต

เมื่อนักเรียนที่มีความพิการทางการเห็นจบหลักสูตรนวดสุขสัมผัส 1,500 ชั่วโมงจากศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด จะมี 3 แนวทางเพื่อไปประกอบอาชีพการนวด ดังนี้

  • เป็นพนักงานนวดตามร้านนวดทั่วไป
  • เข้าทำงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 ซึ่งบริษัทที่ว่าจ้างจะให้ทำงานบริการนวดแก้อาการออฟฟิศซินโดรมให้กับพนักงานของบริษัท
  • กลับถิ่นกำเนิด เปิดร้านนวดของตนเอง และดำรงชีพด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 นอกเหนือจากหลักสูตรการนวดสุขสัมผัส 1,500 ชั่วโมงที่เป็นของทางศูนย์ฯเอง และเป็นหลักสูตรที่ได้สร้างสรรค์หมอนวดพิการทางการเห็นฝีมือชั้นเลิศสู่ตลาดการนวดแผนไทย ทางศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดยังได้การรับรองมาตรฐานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถออกใบประกาศนียบัตรรับรองผู้ที่จบหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพสำหรับคนพิการทางการเห็น 255 ชั่วโมง และหลักสูตรการนวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพสำหรับคนพิการทางการเห็น 80 ชั่วโมง นอกนั้นยังเป็นศูนย์อบรมหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 330 ชั่วโมง และหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย 800 ชั่วโมงสำหรับคนพิการทางการเห็น ซึ่งได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย

ทางด้านบุคคลที่ได้สร้างเกียรติประวัติในสังคม ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดได้ผลิตศิษย์เก่าจำนวนมากที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกลุ่มคนพิการทางการเห็น อาทิ

  • คุณสมชาย ปันเอกวงศ์ อดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
  • คุณสุรินทร์ แกะขุนทด นายกสมาคมสมัชาคนตาบอดเพื่อการส่งเสริมอาชีพ
  • คุณนิตย์ชาญ สุปินะ นายกสมาคมสหภาพคนตาบอดในประเทศไทยเพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพ
  • คุณเสวียน งามแสง นายกสมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด
  • คุณนภดล เขมรัตนา นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยคนตาบอดในประเทศไทย
  • คุณสวอง นวลอ่อน นายกสมาคมส่งเสริมอาชีพและสวัสดิการคนตาบอด
  • คุณมานพ ตะเคียนคาม นักกีฬายูโดคนพิการทีมชาติไทยสายดำ อันดับที่ 5 ของโลก

นี่เป็นผลิตผลที่ทรงคุณค่าของศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด จากเด็กที่สูญเสียการมองเห็นที่เป็นภาระของครอบครัว อยู่ในโลกส่วนตัวที่มืดมิดและโดดเดี่ยว เมื่อได้มาที่ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด และผ่านกระบวนการอบรมอย่างเข้มข้น พวกเขาสามารถที่จะประกอบอาชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และอย่างยั่งยืน เพียงแต่ขอพวกเราให้โอกาสและมอบพื้นที่ยืนในสังคมให้กับพวกเขา

รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา
รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา
รูปภาพเนื้อหาประวัติความเป็นมา

โครงสร้างการบริหารงานศูนย์นวดตาบอดปากเกร็ด

รูปภาพโครงสร้างการบริหารงานศูนย์นวดตาบอดปากเกร็ด
รูปภาพโลโก้มูลนิธิ